ประชาสัมพันธ์




พระราชบัญญัติ
กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา (ฉบับที่ ๑)
พ.ศ. ๒๕๒๗
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗
เป็นปีที่ ๓๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
     
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า 
         โดยที่เป็นการสมควรมีกฏหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
         จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
         มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะ ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๒๗”
         มาตรา ๒ พระราชบัญญัติให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
         มาตรา ๓ วิชาการพระพุทธศาสนา หมายความว่า วิชาการซึ่งจัดให้พระภิกษุสามเณรศึกษาตามหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง
(๒) หลักสูตรปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิต ของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
(๓) หลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต ของมหาจุฬาลงกรณราช-วิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
         มาตรา ๔ ให้ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
(๑) ตามหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง เปรียญธรรมเก้าประโยค มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรีเรียกว่า “เปรียญธรรมเก้าประโยค” ใช้อักษรย่อว่า “ป.ธ.๙”
(๒) ตามหลักสูตรปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตจากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี เรียกว่า “ศาสนศาสตรบัณฑิต” ใช้อักษรย่อว่า “ศน.บ.”
(๓) ตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตจากมหาจุฬาลงกรณราช-วิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรีเรียกว่า “พุทธศาสตร-บัณฑิต” ใช้อักษรย่อว่า “พธ.บ.”
         มาตรา ๕ นอกจากปริญญาตามมาตรา ๔ พระภิกษุสามเณรซึ่งได้ศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนา อาจได้รับประกาศนียบัตรรับรองความรู้ตามหลักสูตร ที่คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ ให้ความเห็นชอบ 
         มาตรา ๖ ให้มีคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์คณะหนึ่งประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานกรรมการ แม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง นายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย สภานายกมหา-จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประธานกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย อธิบดีกรมการฝึกหัดครู อธิบดีกรมการศาสนา อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน อธิบดีกรมวิชาการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติเป็น กรรมการ กับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม 
         ให้คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์เลือกกรรมการผู้หนึ่งเป็นรองประธานกรรมการ 
         ให้อธิบดีกรมการศาสนา เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ และให้กรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ 
         มาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ 
         ในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งทรงแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการ ซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว 
         มาตรา ๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออกหรือ 
(๓) สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก 
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ สมเด็จพระสังฆราชอาจทรงแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทน โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมได้ และให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน 
         มาตรา ๙ การประชุมของคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น จึงจะเป็นองค์ประชุม 
         ถ้าประธานกรรมการ ไม่มาประชุม หรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุม หรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการผู้หนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม 
         การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการผู้หนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด 
         มาตรา ๑๐ คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ 
(๑) กำหนดนโยบายและแผนการจัดการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
(๒) กำหนดมาตรฐานและให้ความเห็นชอบหลักสูตรวิชาการพระพุทธศาสนา
(๓)  กำหนดพื้นความรู้ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์การเข้าศึกษา ระยะเวลาการศึกษา การสอบและเงื่อนไขในการรับปริญญาหรือประกาศนียบัตร
(๔) ควบคุมดูแลการจัดการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนา ให้มีการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นหลัก และป้องกันมิให้มีการเปลี่ยนแปลงพระธรรมวินัยให้ผิดไปจากพระบาลีในพระไตรปิฎก
(๕) วินิจฉัยสั่งการเพื่อยับยั้งหรือยุติการดำเนินกิจการที่ขัดต่อพระธรรมวินัย หรือขัดต่อกฏหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งของสถานศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนาตามพระราชบัญญัตินี้
(๖) วางระเบียบ และออกข้อบังคับ หรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

         มาตรา ๑๑ ผู้ใดไม่มีสิทธิ์ใช้ปริญญาหรือประกาศนียบัตร หรืออักษรย่อปริญญาตามพระราชบัญญัตินี้ กระทำการเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ์ดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
         มาตรา ๑๒ ให้ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา ตามหลักสูตรพระปริยัติ ธรรมแผนกธรรมแผนกบาลีสนามหลวง เปรียญธรรมเก้าประโยค ปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตจากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรม-ราชูปถัมภ์ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี ตามมาตรา ๔ 
         มาตรา ๑๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประจวบ สุนทรางกูร
รองนายกรัฐมนตรี
 

หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระภิกษุสามเณร ซึ่งได้ศึกษาและสอบได้เปรียญธรรมเก้าประโยค ตามหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และแผนกบาลีสนามหลวงของ คณะสงฆ์ปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิต ตามหลักสูตรปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือปริญญา พุทธศาสตรบัณฑิต ตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เทียบขั้นบัณฑิตด้านสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฝ่ายอาณาจักรสมควรกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรทั้งสามนี้ ให้สูงเท่ากับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยฝ่ายอาณาจักร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระราชบัญญัติ
กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๔๐
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐
เป็นปีที่ ๕๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
     
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า 
         โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา 
         จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาดังต่อไปนี้ 
         มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา (ฉบับที่ ๒) พ. ศ. ๒๕๔๐” 
         มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป 
         มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ. ศ. ๒๕๒๗ และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน 
         “มาตรา ๓ วิชาการพระพุทธศาสนา หมายความว่า วิชาการซึ่งจัดให้ พระภิกษุสามเณรศึกษาตามหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง” 
         มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ. ศ. ๒๕๒๗ และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน 
         “มาตรา ๔ ให้ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนาตามหลักสูตร พระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง เปรียญธรรมเก้าประโยค มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี เรียกว่า “เปรียญธรรมเก้าประโยค” ใช้อักษรย่อว่า “ป.ธ. ๙” 
         มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๒๗ และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน 
         “มาตรา ๖ ให้มีคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์คณะหนึ่ง ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานกรรมการ แม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ อธิบดีกรมการศาสนา อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน อธิบดีกรมวิชาการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินเจ็ดคนซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเป็นกรรมการ 
         ให้คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์เลือกกรรมการผู้หนึ่งเป็นรองประธานกรรมการ 
         ให้อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ และให้กรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์” 
    
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ




พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ



นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ เนื่องจากได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อดำเนินงานด้านการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนา ตามหลักสูตรปริญญาศาสนศาสตร-บัณฑิต และพุทธศาสตรบัณฑิตขึ้นโดยเฉพาะแล้ว สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในพระราชบัญญัติ กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๒๗ ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนา ตามหลักสูตรปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตและพุทธศาสตรบัณฑิต ตลอดจนองค์ประกอบ ของคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ ให้เหมาะสมและสอดคล้อง กับหลักการจัดตั้งมหาวิทยาลัยดังกล่าวจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัต


-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

มส. ให้โรงเรียนปริยัติธรรมสามัญ ปรับหลักสูตรเพิ่มชั่วโมงสอนบาลี


นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในการนำหลักสูตรการศึกษาบาลี เข้ามาสอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา โดยให้เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 นี้เป็นต้นไป
สำหรับสัดส่วนในการเพิ่มการสอนบาลี ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จะแบ่งเป็นการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กำหนดให้มีการเรียนบาลี 120 ชั่วโมง ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กำหนดให้มีการเรียนบาลี 480 ชั่วโมง
“สาเหตุที่ มส.ต้องมีมติให้เพิ่มการเรียนการสอนบาลี ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เพราะปัจจุบันถึงแม้โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา บางแห่งจะมีการสอนบาลีอยู่บ้างแล้ว แต่จำนวนชั่วโมงในการเรียนก็ถือว่าน้อยมาก ขณะที่บางโรงเรียนก็ไม่ได้มีการเรียนการสอนบาลีเลย ทำให้พระภิกษุสงฆ์ และสามเณร ในบางโรงเรียนอ่านและเขียนภาษาบาลีไม่ได้” ผอ.พศ.กล่าวและว่า ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะทดลองก่อนเป็นระยะเวลา 1 ปี และจะมีการประเมินผลการดำเนินงานจากผลการสอบของนักเรียน
นายนพรัตน์ กล่าวด้วยว่า หลังจากทดลองสอนบาลีในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาแล้ว ตนจะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อหาแนวทางในการปรับระบบการศึกษาของคณะสงฆ์เป็น 3 สาย ในลักษณะเดียวกับการศึกษาสายสามัญ ที่มีการแบ่งเป็นสายการศึกษา เป็นสายวิทย์ สายศิลป์ โดยในการศึกษาของสงฆ์ จะแบ่งเป็น
  1. การศึกษาบาลีอย่างเดียว 
  2. การศึกษาบาลีบวกการศึกษาสามัญ โดยเน้นที่การศึกษาด้านบาลีมากกว่า  และ
  3. การศึกษาสามัญบวกบาลี โดยเน้นการศึกษาสามัญมากกว่า แต่จะต้องมีการเรียนบาลีควบคู่ไปด้วย
ซึ่งแนวทางดังกล่าวเพื่อให้ผู้ที่เข้ามาบวชเรียนต้องการจะเป็นพระสงฆ์สืบทอด พระพุทธศาสนาต่อไป ไม่ใช่เข้ามาเรียนเพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาแล้วนำไปศึกษาต่อในทางโลก.

จดหมายจาก bloggre

โครงการความร่วมมือสหบาลีคณะสงฆ์สุโขทัย สวัสดี..เพื่อสหธรรมิกทุกท่าน ยินดีต้อนรับท่านเข้าสู่ Bloggre.com ในนาม sahabali.blogspot.com โครงการร่วมมือสหบาลี เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาบาลีในจังหวัดสุโขทัย แก้ไขปัญหาในการจัดการเรียนการสอนภาษาบาลี ทั้งด้านบุคคลากรผู้สอน และผู้สนใจเข้ารับการศึกษา ซึ่งทุกท่านสามารถมีส่วนร่วมในโครงการนี้ทุกด้าน โดยติดตามความเคลื่อนไหวจากเว็บบลอกนี้..!!

Add comment

Music VDO

สุดยอดภาษา